Healthy Organization
หน้าหลัก > Library > บทความด้านโภชนาการ > 6 เทคนิค รู้จักกินให้เป็น ช่วยสร้างคอลลาเจนได้

6 เทคนิค รู้จักกินให้เป็น ช่วยสร้างคอลลาเจนได้

โพสเมือ 2021-11-23 18:24:08 | หมวดหมู่ : Library:บทความด้านโภชนาการ

 

คงปฎิเสธไม่ได้ว่าคอลลาเจนเป็นสิ่งที่หลายคนรู้จักและมีการนำมาใช้เพื่อประโยชน์ด้านการดูแลผิวพรรณมาอย่างยาวนาน เนื่องจากคอลลาเจนเป็นส่วนประกอบของผิวหนังที่จะช่วยให้โครงสร้างผิวมีความยืดหยุ่น เรียบเนียน ทำให้มีผลิตภัณฑ์คอลลาเจนทั้งทาภายนอกและกินบำรุงจากภายในออกมามากมายเพื่อใช้ในการทดแทนคอลลาเจนที่จะสูญเสียไปเรื่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้น  แล้วการกินอาหารอะไรที่เป็นแหล่งของคอลลาเจนบ้าง และควรกินอย่างไรถึงจะดีต่อร่างกาย  เป็นสิ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้ เรามาหาคำตอบกันดีกว่าค่ะ


คอลลาเจน คืออะไร ?  
คอลลาเจน คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่คล้ายกับกาว และเป็นโครงสร้างของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง กระดูก กล้ามเนื้อ เล็บ เอ็น และข้อ 


คอลลาเจนเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบหลักของผิวหนัง โดยมีสัดส่วนสูงถึง 80% โดยคอลลาเจนจะอยู่ที่ผิวหนังชั้นล่าง (ชั้นหนังแท้ หรือ dermis) ซึ่งการทาครีมทั่วไปจะไม่มีผลถึงคอลลาเจนในผิวหนัง ในร่างกายคนเรามีคอลลาเจนมากถึง 16 ชนิด  โดยชนิดที่เราจะสามารถพบได้บ่อยในร่างกาย คือ
1.    คอลลาเจนชนิดที่ 1 (Collagen Type I) เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุดในร่างกาย ช่วยในการเสริมความยืดหยุ่น การสมานแผล สามารถพบได้ในผิวหนัง เส้นผม กระดูก เนื้อเยื่อ และผนังหลอดเลือด
2.    คอลลาเจนชนิดที่ 2 (Collagen Type II) เป็นชนิดที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าชนิดที่ 1 พบมากในกระดูก กระดูกอ่อน และข้อต่อ มีหน้าที่ช่วยในการสร้างกระดูกอ่อน
3.    คอลลาเจนชนิดที่ 3 (Collagen Type III) เป็นชนิดที่มักจะพบในผิวหนัง กล้ามเนื้อ และหลอดเลือด 
4.    คอลลาเจนชนิดที่ 5  (Collagen Type V) สามารถพบได้ในบริเวณเดียวกันกับ ชนิดที่ 1 หรือใต้ชั้นผิวหนัง และในเนื้อเยื่อของทารกในระหว่างตั้งครรภ์


จะเห็นได้ว่าคอลลาเจนกระจายอยู่ทั่วร่างกายของเรา โดยปกติแล้วร่างกายจะมีการสร้างและสลายคอลลาเจนในปริมาณที่สมดุลกัน แต่เมื่อเรามีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป การสร้างคอลลาเจนก็จะลดลงประมาณร้อยละ 1 ต่อปี   ในขณะที่อัตราการสลายคอลลาเจนยังเท่าเดิม ทำให้ปริมาณคอลลาเจนในร่างกายลดลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้ความแข็งแรงของผิวลดลงเมื่ออายุมากขึ้น โดยเป็นอย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า “คอลลาเจนใต้ผิวหนังลดลงก็จะเกิดริ้วรอย” นั่นเอง


หลายคนคงเกิดความสงสัยว่าถ้ากินคอลลาเจนไปแล้วจะมีผลดีอย่างไร  ซึ่งมีหลายงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับคอลลาเจนแสดงให้เห็นว่าคอลลาเจนมีประโยชน์ ดังนี้
1.    ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น  ความชุ่มชื้น ความฟู และลดความหยาบกร้านของผิว
2.    ทำให้ริ้วรอยที่เห็นได้ชัดดูจางลง 
3.    ลดการเปราะแตกของเล็บ  
4.    ช่วยชะลอการสลายของมวลกระดูก เมื่อกินคู่กับแคลเซียมและวิตามินดี 
5.    ช่วยเรื่องสุขภาพของข้อต่อในกลุ่มผู้สูงอายุ เช่น ลดอาการปวดข้อต่อ เป็นต้น 


ซึ่งการกินคอลลาเจนให้ได้ผลดีและปลอดภัยที่สุด แนะนำว่าควรเลือกคอลลาเจนสายสั้น (hydrolyzed collagen) เนื่องจากเป็นคอลลาเจนที่ผ่านการไฮโดรไลซ์ (hydrolysis)  จนมีขนาดที่เล็กลง ทำให้ร่างกายดูดซึมได้ง่าย และกลายเป็นองค์ประกอบของการสร้างคอลลาเจนในร่างกาย โดยปริมาณของคอลลาเจนที่กินใน 1 วันโดยให้ผลที่ดีที่สุดและไม่มีผลข้างเคียงคือ 2.5 – 15 กรัม  

 
กินให้ดี มีส่วนช่วยสร้างคอลลาเจน    
เราสามารถเลือกการกินอาหารให้ดีเพื่อที่จะช่วยชะลอการสลายและมีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจนให้เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย และนี่คือ 6 เทคนิคง่าย ๆ ที่จะช่วยให้คอลลาเจนในร่างกายอยู่กับเราไปนาน ๆ


1.    กินโปรตีนต่อวันต้องเพียงพอ ทำให้สร้างคอลลาเจนได้อย่างเต็มที่  โดยการกินโปรตีนจากเนื้อสัตว์ นม ไข่ หรือ ธัญพืชต่าง ๆ ให้เพียงพอความต้องการต่อวัน หรือ 1 – 1.2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น ถ้าหากเรามีน้ำหนักตัวที่ 50 กรัม แสดงว่าเราต้องกินโปรตีนให้ได้ 50 - 60 กรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับการเลือกกินเนื้อสัตว์ไม่ว่าจะเป็นหมู ไก่ ปลา ให้ได้รวม ๆ กันประมาณ 200 - 250 กรัมนั่นเอง เพื่อที่ร่างกายจะนำคอลลาเจนไปใช้ประโยชน์ต่อสภาพผิว ข้อเข่า หรือมวลกระดูก แทนการนำไปปรับสมดุลของโปรตีนในร่างกายนั่นเอง


2.    กินอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินซี    เพราะวิตามินซีช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และถือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญที่ช่วยชะลอการสลายของคอลลาเจน โดยแหล่งของวิตามินซี คือ ผักและผลไม้ต่าง ๆ เช่น ฝรั่ง ผักคะน้า บรอกโคลี สตรอเบอร์รี่ ส้ม แอปเปิลแดง มะนาว เบอร์รี่ชนิดต่าง ๆ  เป็นต้น  


3.    กินอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินเอ เพราะวิตามินเอช่วยกระตุ้นการเติบโตของไฟโบรบลาสต์ (fibroblast) ที่มีหน้าที่สร้างคอลลาเจนและอิลาสตินของร่างกาย ที่ทำให้ผิวพรรณยังเต่งตึง  โดยแหล่งอาหารที่มีวิตามิน เอ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ นม ผักที่มีสีเขียวเข้มและสีเหลืองส้ม เช่น ตำลึง ผักบุ้ง แครอท มะละกอสุก เป็นต้น 


4.    กินอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินอี เพราะวิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทำงานคู่กับวิตามินซี  โดยแหล่งของวิตามินอี คือ น้ำมันพืชต่าง ๆ เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง นอกจากนี้ยังพบใน ถั่วอัลมอนด์  อาโวคาโด มะม่วง กีวี เป็นต้น 


5.    หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน เพราะน้ำตาลจะทำให้เกิดกระบวนการไกลเคชัน (glycation) ที่จะส่งผลให้คอลลาเจนเสียรูปร่าง และไม่ยืดหยุ่นแบบที่ควรเป็น 


6.    ดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 8 – 10 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน น้ำเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างคอลลาเจนในร่างกาย หากดื่มน้ำไม่พอการสร้างคอลลาเจนก็จะลดลงไปด้วยนั่นเอง

 

ดังนั้น ถ้าใครสนใจอยากที่จะกินคอลลาเจนเพื่อดูแลผิวพรรณ และเลือกเป็นคอลลาเจนสายสั้น หรือไฮโดรไลซ์คอลลาเจน ที่ง่ายต่อการดูดซึม โดยอาจจะกินควบคู่ไปกับวิตามินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิตามินซี อี และเอ รวมไปถึงดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน เพื่อชะลอการสลายตัวและมีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจน และที่สำคัญต้องกินโปรตีนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนัง ข้อเข่า หรือกระดูก ได้เต็มประสิทธิภาพ 

 

บทความโดย 
ปวีณา วงศ์อัยรา และ อำนาจ จิตติวสุรัตน์  นักกำหนดอาหารวิชาชีพ เครือข่ายคนไทยไร้พุง

 

อ้างอิง
1)    Lodish H, Berk A, Zipursky SL, et al. Molecular Cell Biology. 4th edition. New York: W. H. Freeman; 2000. Section 22.3, Collagen: The Fibrous Proteins of the Matrix. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK21582/
2)    León-López, A., Morales-Peñaloza, A., Martínez-Juárez, V. M., Vargas-Torres, A., Zeugolis, D. I., & Aguirre-Álvarez, G. (2019). Hydrolyzed Collagen-Sources and Applications. Molecules (Basel, Switzerland), 24(22), 4031. https://doi.org/10.3390/molecules24224031
3)    Elam, M. L., Johnson, S. A., Hooshmand, S., Feresin, R. G., Payton, M. E., Gu, J., & Arjmandi, B. H. (2015). A calcium-collagen chelate dietary supplement attenuates bone loss in postmenopausal women with osteopenia: a randomized controlled trial. Journal of medicinal food, 18(3), 324–331. https://doi.org/10.1089/jmf.2014.0100
4)    Czajka, A., Kania, E. M., Genovese, L., Corbo, A., Merone, G., Luci, C., & Sibilla, S. (2018). Daily oral supplementation with collagen peptides combined with vitamins and other bioactive compounds improves skin elasticity and has a beneficial effect on joint and general wellbeing. Nutrition research (New York, N.Y.), 57, 97–108. https://doi.org/10.1016/j.nutres.2018.06.001
5)    Vollmer, D. L., West, V. A., & Lephart, E. D. (2018). Enhancing Skin Health: By Oral Administration of Natural Compounds and Minerals with Implications to the Dermal Microbiome. International journal of molecular sciences, 19(10), 3059. https://doi.org/10.3390/ijms19103059 
6)    Bolke, L., Schlippe, G., Gerß, J., & Voss, W. (2019). A Collagen Supplement Improves Skin Hydration, Elasticity, Roughness, and Density: Results of a Randomized, Placebo-Controlled, Blind Study. Nutrients, 11(10), 2494. https://doi.org/10.3390/nu11102494 
7)    Barati, M., Jabbari, M., Navekar, R., Farahmand, F., Zeinalian, R., Salehi-Sahlabadi, A., Abbaszadeh, N., Mokari-Yamchi, A., & Davoodi, S. H. (2020). Collagen supplementation for skin health: A mechanistic systematic review. Journal of cosmetic dermatology, 19(11), 2820–2829. https://doi.org/10.1111/jocd.13435
8)    Proksch, E., Schunck, M., Zague, V., Segger, D., Degwert, J., & Oesser, S. (2014). Oral intake of specific bioactive collagen peptides reduces skin wrinkles and increases dermal matrix synthesis. Skin pharmacology and physiology, 27(3), 113–119. https://doi.org/10.1159/000355523 
9)    León-López, A., Morales-Peñaloza, A., Martínez-Juárez, V. M., Vargas-Torres, A., Zeugolis, D. I., & Aguirre-Álvarez, G. (2019). Hydrolyzed Collagen-Sources and Applications. Molecules (Basel, Switzerland), 24(22), 4031. https://doi.org/10.3390/molecules24224031 
10)    Paul, C., Leser, S., & Oesser, S. (2019). Significant Amounts of Functional Collagen Peptides Can Be Incorporated in the Diet While Maintaining Indispensable Amino Acid Balance. Nutrients, 11(5), 1079. https://doi.org/10.3390/nu11051079 
11)    Sharma, S. R., Poddar, R., Sen, P., & Andrews, J. T. (2008). Effect of vitamin C on collagen biosynthesis and degree of birefringence in polarization sensitive optical coherence tomography (PS-OCT). African Journal of Biotechnology , 7(12), 2049-2054.
12)    Pullar, J. M., Carr, A. C., & Vissers, M. (2017). The Roles of Vitamin C in Skin Health. Nutrients, 9(8), 866. https://doi.org/10.3390/nu9080866 
13)    คณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข. (2563). ปริมาณสารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.วี. โปรเกรสซีฟ. สืบค้นจาก : https://www.thaidietetics.org/wp-content/uploads/2020/04/dri2563.pdf 
14)    Varani, J., Warner, R. L., Gharaee-Kermani, M., Phan, S. H., Kang, S., Chung, J. H., Wang, Z. Q., Datta, S. C., Fisher, G. J., & Voorhees, J. J. (2000). Vitamin A antagonizes decreased cell growth and elevated collagen-degrading matrix metalloproteinases and stimulates collagen accumulation in naturally aged human skin. The Journal of investigative dermatology, 114(3), 480–486. https://doi.org/10.1046/j.1523-1747.2000.00902.x 
15)    Gautieri, A., Passini, F. S., Silván, U., Guizar-Sicairos, M., Carimati, G., Volpi, P., Moretti, M., Schoenhuber, H., Redaelli, A., Berli, M., & Snedeker, J. G. (2017). Advanced glycation end-products: Mechanics of aged collagen from molecule to tissue. Matrix biology : journal of the International Society for Matrix Biology, 59, 95–108. https://doi.org/10.1016/j.matbio.2016.09.001