Healthy Organization
หน้าหลัก > Library > บทความด้านโภชนาการ > Healthy Hydration: น้ำเปล่า ตัวช่วยสุขภาพดี ที่ร่างกายขาดไม่ได้

Healthy Hydration: น้ำเปล่า ตัวช่วยสุขภาพดี ที่ร่างกายขาดไม่ได้

โพสเมือ 2021-04-16 16:53:35 | หมวดหมู่ : Library:บทความด้านโภชนาการ

 

น้ำ องค์ประกอบที่สำคัญของร่างกาย 
น้ำ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของร่างกายและยังนับเป็นสิ่งที่ร่างกายเราไม่สามารถขาดไปได้ เนื่องจากร้อยละ 60 ของน้ำหนักตัวของคนเราประกอบไปด้วยน้ำ ร่างกายของคนเราจึงต้องการน้ำในปริมาณที่เหมาะสมทุกวันเพื่อรักษาสมดุลไว้และใช้ในกระบวนการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเราสามารถได้รับน้ำจากการดื่มน้ำ เครื่องดื่มต่าง ๆ รวมถึงอาหารที่กินครับ แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่อง “น้ำเปล่า ตัวช่วยสุขภาพดี” กันครับ 

 

ดื่มน้ำแค่ไหน จึงจะพอดี 
ในแต่ละวันทุกคนดื่มต้องการน้ำเปล่าไม่เท่ากัน เนื่องจากปริมาณน้ำที่ควรได้รับต่อวันขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและกิจกรรมที่ทำในแต่ละวันของแต่ละคน โดยปริมาณน้ำที่แนะนำให้บริโภคควรได้รับคือ 100 – 150 มิลลิลิตร ต่อ 100 กิโลแคลอรี่ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน โดยผู้ใหญ่จะต้องการน้ำมากกว่าเด็กและจะลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้น  และ เพศชายจะมีความต้องการน้ำมากกว่าเพศหญิง 

 

 

นอกจากนี้  สำหรับวัยทำงานยังสามารถใช้วิธีการคำนวณง่าย ๆ ว่า ต้องดื่มน้ำเท่าไหร่ต่อวัน ใช้เพียงแค่น้ำหนักตัวของเราเท่านั้นเอง สูตรคือ น้ำหนัก (กิโลกรัม) คูณด้วย 2.2 คูณด้วย 30 หารด้วย 2 จะได้เป็นปริมาณน้ำเป็นมิลลิลิตรที่เราควรดื่มใน 1 วัน2
 

ยกตัวอย่างเช่น น้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม × 2.2 × 30 / 2 จะเท่ากับ 2,310 มิลลิลิตร แต่สำหรับใครที่ไม่ต้องการที่จะคำนวณให้ยุ่งยากแล้วก็ควรที่จะดื่มน้ำในแต่ละวันให้เพียงพอประมาณ 8-10 แก้ว หรือเทียบเท่ากับการดื่มน้ำจากขวดขนาด 600 มิลลิลิตร ประมาณ 3-4 ครั้งนั่นเองครับ และสำหรับนักกีฬาที่มีการสูญเสียน้ำมากกว่าคนทั่วไปอาจต้องดื่มเพิ่มมากขึ้นจากที่ปริมาณแนะนำ 1-2 แก้ว เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ


สัญญาณเตือนก่อนร่างกายจะขาดน้ำ 
ภาวะขาดน้ำ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้เมื่อร่างกายได้รับปริมาณน้ำไม่เพียงพอกับที่ได้สูญเสียไป โดยร่างกายมีการสูญเสียเป็นประจำอยู่แล้วจาก การหายใจ เหงื่อ ปัสสาวะ  แต่หากร่างกายมีภาวะที่สูญเสียน้ำมากกว่าปกติ เช่น เหงื่อออกมาก เป็นไข้สูง อาเจียน ท้องเสีย หรือปัสสาวะบ่อย ๆ แล้วไม่ได้มีการดื่มน้ำเพื่อเป็นการทดแทนส่วนที่สูญเสียไป ก็อาจจะทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ  และส่งผลให้ร่างกายเหนื่อย อ่อนเพลีย สับสน งุนงง และในบางรายอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต  


สำหรับสัญญาณเบื้องต้นที่แสดงเมื่อเราดื่มน้ำไม่เพียงพอ   มีหลากหลายรูปแบบดังนี้ 
-    กระหาย  
-    ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม 
-    ปากแห้ง ลิ้นแห้ง 
-    ผิวแห้ง
-    เหนื่อย หอบ ใจเต้นเร็ว 
-    บางรายอาจมีอาการ ง่วง เพลีย งุนงง สับสน 


ภาวะขาดน้ำ สามารถเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะ กลุ่มทารกและเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง หรือผู้ที่ทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ดังนั้นการดื่มน้ำสะอาดเป็นประจำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงเป็นที่ช่วงป้องกันภาวะดังกล่าวนี้ได้ แต่หากร่างกายมีการสูญเสียมากกว่าปกติก็จำเป็นที่จะต้องดื่มน้ำเปล่า หรือน้ำเกลือแร่เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปนั่นเองครับ3


น้ำเปล่า ตัวช่วยสุขภาพดี 
น้ำเปล่ามีความสำคัญกับร่างกายของเรามาก  หากร่างกายขาดไป ก็จะทำให้การทำงานของร่างกายไม่เป็นปกติ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า การดื่มน้ำเพียงพอช่วยให้ส่งเสริมความจำและอารมณ์4 ช่วยลดความกังวลได้และอาจช่วยลดอาหารปวดหัวได้เช่นกัน5 ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะและช่วยป้องกันการเกิดนิ่วได้6  นอกจากนี้ใครที่ท้องผูกบ่อย ๆ แน่นอนว่าการดื่มน้ำช่วยป้องกันท้องผูกได้ ที่สำคัญการดื่มน้ำเปล่าอาจช่วยลดความต้องการน้ำตาลและช่วยในการรักษาระดับน้ำหนักได้อีกด้วย

 


เห็นหรือไม่ครับว่า น้ำเปล่าเครื่องดื่มธรรมดา ที่หลายๆ คนมองข้ามไป แต่กลับมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน แถมยังหาได้ง่าย ดื่มได้โดยที่ไม่มีพลังงานหรือน้ำตาลเหมือนเครื่องดื่มทั่วไป ดังนั้นเราจึงควรหันมาดื่มน้ำเปล่าเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อสุขภาพที่ดีกันครับ


ปโยธร หัตถวิก
นักกำหนดอาหารเครือข่ายคนไทยไร้พุง 


อ้างอิง
1 คณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ.2563 
2 Thitima. (2014). ดื่มน้ำอย่างไรให้ถูกวิธี. บทความการดูแลสุขภาพ, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขhttps://www.hsri.or.th/people/media/care/detail/5730
3 Manesh Khatri, What is Dehydration? What Causes It? from https://www.webmd.com/a-to-z-guides/dehydration-adults#1
4 Ganio M, Armstrong L, Casa D, McDermott B, Lee E, Yamamoto L, Lieberman H. Mild dehydration impairs cognitive performance and mood of men. British Journal of Nutrition  2011;106(10):1535-1543. 
5 Blau JN, Kell CA, Sperling JM. Water-deprivation headache: a new headache with two variants. Headache  2004 ; 44(1):79-83.
6 Bao Y, Wei Q. Water for preventing urinary stones. Cochrane Database of Systematic Reviews 2012, Issue 6.
7 Dennis EA, Dengo AL, Comber DL, Flack KD, Savla J, Davy KP, Davy BM. Water consumption increases weight loss during a hypocaloric diet intervention in middle-aged and older adults. Obesity (Silver Spring). 2010 ; ;18(2):300-7.