Healthy Organization
หน้าหลัก > Library > บทความด้านโภชนาการ > กินเค้ก(และขนมหวาน)อย่างไร ให้สุขภาพดี

กินเค้ก(และขนมหวาน)อย่างไร ให้สุขภาพดี

โพสเมือ 2021-01-20 14:09:50 | หมวดหมู่ : Library:บทความด้านโภชนาการ

ขนมหวานต่าง ๆ ได้ชื่อว่าเป็น “สัญลักษณ์ของรางวัล” เพราะด้วยรสชาติอันหอมหวานและกลิ่นอันน่ารื่นรมย์ต่าง ๆ นั้น เป็นเหมือนรางวัลชีวิตของผู้ที่ได้รับประทาน ด้วยความชอบที่แตกต่างกันและรสนิยมแต่ละคน ทำให้ขนมหวานมีคุณค่าต่อจิตใจแตกต่างกันไปด้วย ซึ่งในผู้ที่ไม่ได้ชื่นชอบนักก็คงไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด แต่สำหรับผู้ที่หลงรักในรสชาติของขนมหวานอย่างมากนั้น เรามาหาคำตอบร่วมกันว่า จะมีแนวทางในการบริโภคขนมหวานอย่างไร ให้ได้ลิ้มลองรสชาติ แต่ไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ด้วยคุณค่าทางสารอาหารของขนมหวานไม่ว่าจะเป็นขนมไทยหรือขนมเทศนั้น ส่วนใหญ่จะหนักไปที่ แป้ง น้ำตาลและไขมันนั่นเอง

 

เค้ก จัดเป็นขนมหวานชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ในประเทศไทยปัจจุบันก็มีร้านกาแฟ ร้านเบเกอรีสำหรับนั่งกินเค้ก ในบรรยากาศที่ตกแต่งสวยงามสไตล์ต่างๆ อยู่ทั่วประเทศ ด้วยสัมผัสและรสชาติอันเฉพาะของเค้กแต่ละชนิดทำให้เค้กเป็นขนมหวานที่ยากจะปฏิเสธสำหรับผู้ที่ชื่นชอบ

 

ตามข้อมูลทางโภชนาการนั้น โดยทั่วไปเค้กจะมีน้ำตาลไม่ต่ำกว่า 20 กรัม และไขมันไม่ต่ำกว่า 10 กรัม (ต่อชิ้นมาตรฐาน 1 เสี้ยว หรือ 1/8 ก้อน) ซึ่งหากนำไปเปรียบเทียบเป็นอาหารทั่วไปก็นับว่ามีไขมันและน้ำตาลค่อนข้างสูงทีเดียว แต่เราไม่สามารถเทียบว่าเค้กนั้นจะเป็นเช่นกะเพราหมูสับได้  เราจึงควรปฏิบัติกับการบริโภคเค้กให้มีความเหมาะสม จึงจะเป็นทางที่ดีที่สุด โดยขอแนะนำแนวทางดังนี้

 

1.หากตกอยู่ในบรรยากาศที่ละลานตาด้วยเค้กนานาชนิดและยากที่จะหักห้ามใจแล้ว ให้ตัดสินใจเลือกเค้กที่อยากลิ้มรสที่สุดเพียงชิ้นเดียว และปลูกความคิดเข้าไปว่า เรายังมีโอกาสหน้าที่จะมาเยี่ยมเยือนร้านขนมหวานแห่งนี้  หรืออาจเลือกเป็นการซื้อกลับบ้านเพื่อรับประทานอีกหนึ่งชิ้นในวันต่อๆ ไปก็ได้ ในกรณีที่มีเพื่อนร่วมโต๊ะอาจเลือกเค้กที่ต่างรสชาติและแลกแบ่งปันกันลิ้มรส

 

2.เลือกดื่มเครื่องดื่มร้อนเพื่อตัดกับความเลี่ยนมันหวานของเค้ก โดยแนะนำเป็นชาร้อนที่มาจากสมุนไพรต่าง ๆ หรือใบชาเองก็ได้  ใครจะเลือกเป็นกาแฟดำร้อนก็ได้เช่นกันโดยไม่ปรุงแต่ง รสขมจากกาแฟหรือรสฝาดจากชาจะช่วยขับให้ความหอมหวานของเค้กนั้นเด่นชัดเจนขึ้นได้ แต่ในการเลือกเครื่องดื่มนั้น ควรเลี่ยงเครื่องดื่มเย็น ๆ เพราะเมนูเหล่านี้มักอุดมไปด้วยน้ำตาลและไขมันพ่วงแถมเสริมทัพให้ความหวานมันนั้นหนักหนายิ่งขึ้นไปอีก

 

3.จะเป็นเค้กประเภทใด เค้กเนื้อสปันจ์ เนื้อชีสแน่น หรือทาร์ตต่าง ๆ ก็มีความแตกต่างกัน แนะนำให้เลือกเมนูที่เราโปรดปรานหรือต้องการกินมากที่สุด เพื่อลดโอกาสการ “กินชดเชยในสิ่งที่ขาดหายไป” และทำให้เรากินมากเกินปริมาณที่ควรบริโภคได้ในที่สุด

 

4.ควรมีการวางแผนก่อนไปร้านเค้ก ด้วยการลดปริมาณข้าวแป้งหรือน้ำหวานในมื้ออาหารหลักก่อนการบริโภคเค้ก เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำตาลและไขมันที่จะได้รับในภายหลัง และควรจำกัดความถี่ในการลิ้มรสเค้ก โดยเว้นระยะเวลาหลายๆ วัน

 

ในทางสุขภาพนั้นมักบอกอยู่เสมอว่าควรเลี่ยงของหวาน มัน เค็ม แต่ในชีวิตความเป็นจริงนั้น อาหารเหล่านี้ก็มีคุณค่าต่อจิตใจ ทำให้เกิดความสุขแบบทันทีทันใดได้ง่าย และที่สำคัญคือ อาหารเหล่านี้ไม่ได้มีอันตรายต่อชีวิตในแบบเฉียบพลัน หากแต่การบริโภคอย่างต่อเนื่องและปริมาณมากในเวลานานต่างหาก ที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพอย่างเรื้อรัง การทำความเข้าใจและยอมรับในทางที่สมดุลจึงเป็นทางออกที่ดีและประนีประนอมต่อการปรับพฤติกรรมการบริโภคที่สุด และควรปรับใช้ให้เป็นอย่างยั่งยืน

 

พศิษฐ์ คณาศิริชัยนนท์
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ
วิทยากรโภชนาการเครือข่ายคนไทยไร้พุง

 


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาข้อเสนอแนะด้านมาตรการและนโยบาย
เพื่อสร้างเสริมสุขภาพประชาชนวัยทำงาน
เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย