โพสเมือ 2021-01-20 14:13:36 | หมวดหมู่ : Library:บทความด้านโภชนาการ
ตอน เลือก Shop เลือกกินอย่างไรให้ห่างไกลเบาหวาน
การเลือกซื้ออาหารเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราสุขภาพดีขึ้นได้ หากเราเลือกซื้ออาหารที่ถูกหลักโภชนาการ และเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ก็จะทำให้เราปลอดภัย และห่างไกลจากโรคต่างๆ ได้โดยเฉพาะ โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขอย่างหนึ่งของคนไทย
โรคเบาหวาน เป็นโรคที่มีสาเหตุจากหลายประการ และพฤติกรรมการกินก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน หากเรากินอย่างไม่ระมัดระวัง ขยับร่างกายไม่เพียงพอ ไขมันในช่องท้องก็จะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนไปถึงจุดหนึ่งที่ร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน และนั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เรากลายเป็นโรคเบาหวานได้
เคล็ดลับในการจะเลือกซื้ออาหารให้ห่างไกลเบาหวาน
แวะโซนของสดเป็นหลัก โดยเน้นไปที่โซนผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป เนื่องจากอาหารประเภท ผัก ธัญพืช เช่น ถั่ว ข้าวกล้อง และผลไม้ มีผลช่วยลดความเสี่ยงเบาหวานได้ เมื่อกินในปริมาณที่เหมาะสม
- ผัก ควรเลือกให้หลากหลาย จะเป็นผักใบ (คะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง ผักโขม) สลับกับผักหัว (ผักกาดขาว กะหล่ำปลี บล๊อคโคลี่) ก็ได้ ส่วนพืชตระกูลหัว เช่น ฟักทอง มันฝรั่ง ควรเลือกกินในปริมาณที่พอดี เพราะมีแป้งพอๆ กับข้าวนั่นเอง
- ผลไม้ ควรเลือกกินให้หลากหลาย เน้นผลไม้ที่หวานน้อย และมีใยอาหารสูง และควรเป็นผลไม้สดจะดีกว่าผลไม้อบแห้ง ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่ง แก้วมังกร ส้ม มะละกอ แคนตาลูป แอปเปิ้ล สัดส่วนที่แนะนำในการกินคือครั้งละ 1 กำปั้นมือ (ไม่เกิน 3 ครั้งต่อวัน) ถ้าครอบครัวใหญ่ ซื้อไปเยอะๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าครอบครัวเล็กๆ ลองคิดคำนวณก่อนซื้อ เพื่อซื้อให้พอดีกับปริมาณการกินที่เหมาะสม แต่ก่อนออกจากโซนนี้ อย่าลืมแวะซื้อน้ำยาล้างผัก ผลไม้ สักนิดด้วย เพื่อความปลอดภัยของเรานะคะ
- เนื้อสัตว์สด หากไปโซนอาหารทะเล ให้เลือกดูที่สด ตาใส กลิ่นไม่คาว แต่ถ้าหากไปโซน หมู ไก่ เนื้อ ควรเลือกส่วนที่ติดหนังน้อยหน่อย เพราะไขมันจากสัตว์บก ส่วนใหญ่เป็นไขมันอิ่มตัวซึ่งส่งผลต่อไขมัน LDL ในร่างกายเรา
ของแห้ง เช่น น้ำมัน เครื่องปรุง ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่ม
- น้ำมัน อาจดูตามกำลังทรัพย์ของเรา อยากทอดให้ใช้น้ำมันปาล์ม อยากผัดใช้น้ำมันถั่วเหลือง แต่ถ้าใช้ทั้งทอดทั้งผัด เลือกเป็นน้ำมันรำข้าว หรือคาโนลา ก็ได้ ส่วนน้ำมันมะกอก มีหลายประเภท ถ้าเป็น Extra virgin เหมาะสมสำหรับทำสลัด แต่หากเป็น Extra light เหมาะสำหรับทอด, ผัด
- เครื่องปรุงต่างๆ ก่อนเลือกซื้อให้ดูที่ฉลากโดยเฉพาะปริมาณโซเดียม ลองเทียบปริมาณโซเดียมของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยเทียบที่หน่วยเดียวกัน (เช่น ช้อนชา ช้อนโต๊ะ กรัม) แล้วทดลองซื้อใช้ไปเรื่อยๆ เผื่อจะได้เจอรสชาติที่เราชอบและโซเดียมไม่สูงมาก แล้วอย่าลืมบอกต่อเพื่อนๆ คนอื่นด้วยนะคะ
- ขนมขบเคี้ยว หากแวะไปโซนนี้ ของที่กินได้แล้วมีประโยชน์ จะเป็นอาหารตระกูลถั่วต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พิตาชิโอ ให้เลือกแบบที่ไม่ปรุงรส หรืออาจจะมีเกลือสักนิดหน่อยพอกล้อมแกล้มก็ไม่เป็นไร เวลาหยิบกินก็ครั้งละ 1 อุ้งมือต่อวันกำลังดีเลย กินมากเกินทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มได้
- เครื่องดื่ม ควรเลือกน้ำเปล่าเป็นหลักจะดีที่สุด หากอยากสดชื่น อาจแวะหยิบโซดาแล้วนำไปผสมกับน้ำผลไม้สดที่เราเพิ่งซื้อมาก็ได้ หรือ อาจดื่มนมจืดก็จะมีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าจ้า
สิ่งสำคัญสำหรับโซนอาหารสำเร็จรูปคือการหยิบผลิตภัณฑ์ขึ้นมา แล้วพลิกด้านหลังไปอ่านฉลากทุกครั้ง ซึ่งวิธีการอ่านฉลากก็ไม่ยากเลย ให้ท่องขึ้นใจไว้ว่า ฉลากโภชนาการ บอกปริมาณทุกอย่างเป็นต่อ 1 หน่วยบริโภค เราต้องหาว่าของชิ้นนี้มีกี่หน่วยบริโภค ถ้ากินหมดจะได้กี่หน่วย นั่นคือเมื่อคูณด้วยจำนวนหน่วยบริโภคจะได้ปริมาณของพลังงานและสารอาหารที่เราจะได้รับจากการบริโภคทั้งบรรจุภัณฑ์ของสิ่งนั้นนั่นเอง
ปวีณา วงศ์อัยรา
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ
วิทยากรโภชนาการเครือข่ายคนไทยไร้พุง
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาข้อเสนอแนะด้านมาตรการและนโยบาย
เพื่อสร้างเสริมสุขภาพประชาชนวัยทำงาน
เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย